top of page

Growth Hormone ฮอร์โมนที่สำคัญ ต่อผิวพรรณ และสุขภาพ

Updated: Dec 26, 2022



โกรทฮอร์โมน (growth hormone หรือ somatotropin หรือ GH) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง (anterior pituitary gland)


ทำหน้าที่สำคัญ คือ กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกายในทุกระบบ ทุกอวัยวะและคอยซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สึกหรอ


การหลั่งฮอร์โมนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงอายุของคน แต่ปริมาณที่หลั่งมีมากหรือน้อยแตกต่างไปตามวัย


จากกราฟจะเห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระดับ GH จะค่อย ๆ ลดต่ำลง จากงานวิจัยพบว่า ทุก ๆ 10 ปีที่อายุเราเพิ่มขึ้น GH จะลดลงประมาณ 14%


แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่สามารถส่งผลกระทบทำให้โกรทฮอร์โมนหลั่งได้น้อยลง เช่น โภชนาการอาหาร ความเครียด การนอนหลับ การออกกำลังกาย น้ำหนัก


เมื่อ Growth Hormone มีระดับต่ำ อาจทำให้มีอาการของการพร่อง หรือ ขาด Growth Hormone อาการที่แสดงออกให้เราเห็นได้เด่น ๆ มีดังนี้

1. ระบบการเผาผลาญในร่างกายต่ำลง รวมถึงการใช้น้ำตาลของร่างกาย (Glucose metabolism) ลดต่ำลง ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงเสี่ยงโรคอ้วน เสี่ยงเบาหวาน เสี่ยงโรคเรื้อรังต่าง ๆ


2. เกิดการสะสมของไขมันในร่างกาย (Adipose tissue) ไขมันสะสมในช่องท้องเพิ่มขึ้น (เพิ่ม Visceral fat) ประสิทธิภาพการเผาผลาญไขมันของร่างกายต่ำลง


3. มีภาวะไขมันในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือด ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ร่วมกับมีภาวะการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันได้


4. ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ส่งผลทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง


5. ความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mass Density) ลดลง เกิดภาวะกระดูกบาง และ กระดูกพรุนได้ง่าย


6. เหนื่อยง่ายขึ้น เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือ ออกกำลังกาย จะทำได้น้อยลงกว่าเดิม


7. กระทบต่อด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า หดหู่ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่กระฉับกระเฉง ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดี


8. ผิวพรรณเหี่ยวย่น ใบหน้าหย่อนคล้อย โกรทฮอร์โมนจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว เพิ่มความชุ่มชื้น ลดรอยเหี่ยวย่นบนผิวหน้าและร่างกาย ลดรอยตีนกา


วิธีบู๊ท Growth Hormone ได้ง่าย ๆ

- หลีกเลี่ยงการนอนดึก ช่วงที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมามากที่สุด คือ ประมาณ สี่ทุ่ม-ตีสอง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นช่วงที่เราหลับลึกแล้วเท่านั้น หลังเริ่มเข้านอน

คนเราจะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. กว่าจะเข้าสู่ภาวะหลับลึก (Stage 3) จึงเป็นเหตุผลว่าควรเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่มนั่นเอง


- ลดการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้านอน เพราะน้ำตาลจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมามาก ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินจะไปยับยั้งการหลั่งโกรทฮอร์โมนของร่างกาย


- ออกกำลังกายระดับ High intensity exercise ซึ่งเป็นการออกกำลังกายอย่างหนักในเวลาอันรวดเร็ว การออกกำลังกายประเภทนี้จะทำให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมาเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย


- ลดความเครียด สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ออกมาซึ่งจะมายับยั้งการหลั่งของโกรทฮอร์โมน



bottom of page