top of page

วัคซีนโควิด 19 "ความหวังของชาวไทย"

Updated: Dec 26, 2022

ไขข้อสงสัยกับวัคซีน Covid-19 กับความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น...

ฉีดไปแล้วป้องกันได้ 100% ไหม ? ประเทศไทยมีตัวไหนให้เลือกบ้าง ? ฉีดไปแล้วจะมีผลข้างเคียงหรือไหม ?

Innovation Beauty อยากให้รับรู้ทุกมุมมอง เพราะเราห่วงใยคุณจากสถานการณ์ปัจจุบัน


ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วป้องกันการติดเชื้อได้จริงหรือไม่

หากพูดถึงภาพรวมของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ และ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่มีอาการตามข่าวที่รายงานถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามักเห็นกันส่วนใหญ่แล้ว เช่น วัคซีนของ Pfizer ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดถึงร้อยละ 95 กรณีนี้จะหมายถึงประสิทธิภาพของการป้องกันโรคที่มีอาการ ในขณะที่การศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโรคแบบไม่มีอาการนั้นยังบอกได้เพียงแนวโน้ม และส่วนมากยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด

จึงสรุปได้ว่า ในปัจจุบัน วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ผู้เข้ารับการฉีดจึงยังอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้อยู่ เพียงแต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนต่างๆ ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้


ประเภทของวัคซีนที่ใช้ในการผลิต

วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่

1.วัคซีนโควิด 19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า สำหรับกรณีโควิด 19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมาคือวัคซีนของ BioNTech/Pfizer และ Moderna


2.วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ

คือวัคซีนของ Johnson & Johnson, Oxford – AstraZeneca, Sputnik V


3. วัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines) จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี บริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคนี้คือ Novavax


4. วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines) จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูง สำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm


วัคซีนโควิด 19 ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย


(อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2564) ได้แก่ วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac) และ วัคซีนโควิด19 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson)


1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (แต่ในประเทศไทยใช้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากฉีดวัคซีนดังกล่าว)


2. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สำหรับฉีดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์


3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson) เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป วัคซีน J&J ยังเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวที่ฉีดเพียง 1 เข็ม (เจ็บแขนเพียงครั้งเดียว) เพราะจากการทดลองในเฟส 1-2 การฉีดวัคซีนเข็มแรกสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และระดับภูมิคุ้มกันยังคงที่อย่างน้อย 2 เดือน ส่วนการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ไม่ได้เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันมากนัก


4. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนประเภท mRNA vaccines สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 28 วัน โดยใช้วิธีฉีดที่กล้ามเนื้อแขนด้านบน

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นเพิ่มเติม และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเมื่อไรที่เราสามารถสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาได้หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรับการฉีดวัคซีนให้กับเรามากขึ้น


อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน

สำหรับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน COVID-19 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง โดยควรเฝ้าระวังหลังจากฉีดไปแล้ว 30 นาทีแรก แต่ถ้ามีอาการแพ้รุนแรงมักจะเกิดอาการภายใน 15 นาที ซึ่งอาการข้างเคียงที่พบ ได้แก่

อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง (สามารถหายได้เองใน 1-2 วัน)

- ปวด บวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด

- ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ

- คลื่นไส้ อาเจียน

- อ่อนเพลีย

อาการข้างเคียงชนิดรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ทันที

- ไข้สูง ใจสั่น

- หนาวสั่น

- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก

- ปวดศีรษะรุนแรง

- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง

- มีจุดเลือดออกจำนวนมาก

- ผื่นขึ้นทั้งตัว ตุ่มน้ำพอง

- อาเจียนไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง

- ชัก หมดสติ

- ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง


ข้อควรระวัง

สิ่งที่ต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน ได้แก่

- มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตราย

ต่อชีวิต

- มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสในวันที่นัดฉีดวัคซีน

- มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่

เช่น วาร์ฟาริน

- ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง

หรือยากดภูมิคุ้มกัน

- อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก

- ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

8 views0 comments
bottom of page